เปิดแนวทาง "ลดคาร์บอน" อุตสาหกรรมการบิน ทำอย่างไรอ่านเลย

28 มีนาคม 2566
เปิดแนวทาง "ลดคาร์บอน" อุตสาหกรรมการบิน ทำอย่างไรอ่านเลย

การขนส่งทางอากาศเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของมนุษย์ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีปริมาณสูงถึงปีละ 915 ตัน (ข้อมูลเมื่อปี 2019)

การขนส่งทางอากาศเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของมนุษย์ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีปริมาณสูงถึงปีละ 915 ตัน (ข้อมูลเมื่อปี 2019)

ทั้งนี้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO) ได้คาดการณ์ว่าปริมาณ CO2 ที่ถูกปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศจากการขนส่งทางอากาศในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับปริมาณ CO2 ที่ถูกปลดปล่อยในปี 2015 อันเป็นผลมาจากแนวโน้มการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องของการขนส่งทางอากาศในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ ICAO จึงได้กำหนดแผนการชดเชยและลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation หรือ CORSIA) โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการปลดปล่อยคาร์บอนจากการบินระหว่างประเทศไม่ให้เกินจากระดับที่ปลดปล่อยในปี 2020

นอกจากนี้ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transportation Association หรือ IATA) ได้กำหนดเป้าหมายลดการปลดปล่อยคาร์บอนการบินสุทธิ (net aviation carbon emissions) ให้ได้ 50% จากระดับที่ปลดปล่อยเมื่อปี 2005 ภายในปี 2050 อีกด้วย เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายและข้อกำหนดข้างต้น สายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกได้เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานและบริการให้สอดคล้องกับแนวคิด “ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” มากขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้

1.การใช้เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน (sustainable aviation fuel หรือ SAF) อันหมายถึงเชื้อเพลิงการบินทางเลือกที่ผลิตขึ้นจากทรัพยากรชีวภาพ (biological resources) ซึ่งใช้แล้วไม่หมดไปเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงการบินดั้งเดิมที่ผลิตขึ้นจากฟอสซิล หรือเรียกอีกอย่างว่าเชื้อเพลิงการบินชีวภาพ (bio-jet fuels) ที่เป็นไปตามมาตรฐานและได้รับการรับรองจากสมาคมการทดสอบและวัสดุแห่งอเมริกา (American Society for Testing and Materials หรือ ASTM) การใช้ SAF สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงการบินดั้งเดิม

หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกอย่างแอร์บัสได้ทดสอบการใช้ SAF มาระยะหนึ่งแล้ว โดยในช่วงแรกเป็นการใช้ SAF แบบผสม (ผสม SAF เข้ากับเชื้อเพลิงการบินดั้งเดิม) ในฝูงบิน BELUGA (เครื่องบินขนส่งชิ้นส่วนเครื่องบินเพื่อนำไปประกอบ) ทั้ง 5 ลำตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 ต่อมาแอร์บัสประสบความสำเร็จในการทดสอบการใช้ SAF 100% (ไม่ได้ผสม SAF เข้ากับเชื้อเพลิงการบินดั้งเดิม) กับเครื่องบินทั้งหมด 4 รุ่น คือ

A350 ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารตระกูลใหม่ล่าสุดของแอร์บัสในเดือนมีนาคม 2021

A319neo ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กที่สุดในตระกูล A320 ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดด้วยการติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นใหม่ (new engine option หรือ neo) ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน

A380 ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2022

A321neo LR (LR ย่อมาจาก long range) ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดในตระกูล A320 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2023 ที่ผ่านมา

สายการบิน Emirates ประสบความสำเร็จในการทดสอบการใช้ SAF 100% บนเครื่องบิน BOEING 777-300ER (ER ย่อมาจาก extended range) เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งการทดสอบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองต่อเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ “ความยั่งยืน” ของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ได้ประกาศให้ปี 2023 เป็นปีแห่งความยั่งยืน

17 มิถุนายน 2021 สายการบิน JAPAN AIRLINES ได้สาธิตการใช้ SAF บนเครื่องบิน AIRBUS A350-941 ในเที่ยวบินที่ JL515 ด้วยการผสม SAF กว่า 3,132 ลิตรเข้ากับเชื้อเพลิงการบินดั้งเดิม ซึ่งคิดเป็น 1% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดที่ใช้ในเที่ยวบินนี้ ซึ่งการสาธิตนี้เป็นการใช้ SAF กับเที่ยวบินที่ให้บริการผู้โดยสารจริงไม่ใช่เที่ยวบินทดสอบแต่อย่างใด

2.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเครื่องบินเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สายการบิน RYANAIR ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดของประเทศไอร์แลนด์ ตัดสินใจติดตั้ง Split Scimitar Winglets ซึ่งเป็นปลายปีกรูปแบบใหม่บนเครื่องบิน BOEING 737-800 จำนวนกว่า 400 ลำในฝูงบิน

โดยปลายปีกรูปแบบใหม่นี้ช่วยลดแรงต้านที่เกิดขึ้นระหว่างทำการบินได้ อันส่งผลทำให้สายการบินสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงลงได้ถึง 5% หรือคิดเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงได้สูงถึงปีละ 65 ล้านลิตรและลดการปล่อยคาร์บอนได้มากถึงปีละ 165,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

สายการบิน SWISS เป็นสายการบินแรกของโลกที่ได้ติดตั้งเทคโนโลยีฟิล์ม AeroSHARK บนพื้นผิวลำตัว (fuselage) และกระเปาะเครื่องยนต์ (engine nacelles) ของเครื่องบิน BOEING 777-300ER ซึ่งฟิล์ม AeroSHARK ช่วยลดแรงเสียดทานบนพื้นผิวของเครื่องบินระหว่างทำการบินได้ ส่งผลทำให้สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 1% ของปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ตามปกติ

ซึ่งคิดเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงได้สูงถึง 4,800 ตันต่อปี และลดการปลดปล่อย CO2 ได้มากถึงปีละ 15,200 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า การติดตั้ง AeroSHARK บนเครื่องบิน BOEING 777-300ER ลำแรกได้ดำเนินการเสร็จสิ้น และเครื่องบินลำดังกล่าวได้กลับมาให้บริการอีกครั้งเมื่อ 14 ตุลาคม 2022 เป็นวันแรก ทั้งนี้สายการบิน SWISS ได้วางแผนติดตั้งฟิล์ม AeroSHARK บนเครื่องบิน BOEING 777-300ER ทั้งหมด 12 ลำในฝูงบิน

3.การให้บริการด้วยบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2022 สายการบิน SINGAPORE AIRLINES ได้เริ่มทดลองใช้ภาชนะบรรจุอาหารกระดาษที่ผ่านการรับรองจากองค์กรพิทักษ์ป่าไม้ (Forest Stewardship Council หรือ FSC) สำหรับให้บริการผู้โดยสารในชั้นประหยัด (economy) และชั้นประหยัดบริการพิเศษ (premium economy) ของบางเที่ยวบิน เพื่อลดการใช้ภาชนะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง

ทั้งนี้สายการบินจะรวบรวมความคิดเห็นของผู้โดยสารต่อภาชนะกระดาษนี้ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2023 เพื่อประกอบการตัดสินใจขยายผลการใช้ภาชนะกระดาษนี้บนทุกเที่ยวบินระยะกลางและระยะไกล เนื่องด้วยการใช้ภาชนะบรรจุอาหารกระดาษนี้กำลังอยู่ในช่วงการทดลองใช้ ทางสายการบินจึงยังไม่ได้สรุปตัวเลขการลดลงของคาร์บอนฟุตพริ้นท์

เมื่อปลายเดือนมกราคม 2023 ที่ผ่านมา สายการบิน Alaska ได้ประกาศยกเลิกการใช้แก้วน้ำพลาสติกบนทุกเที่ยวบินเป็นสายการบินแรกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถลดขยะแก้วน้ำพลาสติกได้มากถึงปีละกว่า 55 ล้านใบ นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 สายการบินได้เริ่มปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ขวดน้ำพลาสติกมาเป็นบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษ โดยบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษนี้ผลิตจากพืชในอัตราส่วนที่มากถึง 92% การใช้บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษนี้สามารถลดขยะขวดน้ำพลาสติกได้มากถึงปีละ 2 ล้านขวด และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้มากถึง 36% เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติกแบบเดิม

4.การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ภาคพื้น (ground equipment)

สายการบิน JAPAN AIRLINES ได้เริ่มใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (electric-powered vehicles) สำหรับงานบริการภาคพื้นในสนามบินหลายแห่งของประเทศญี่ปุ่น เพื่อแทนที่ยานพาหนะแบบเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล

นอกจากนี้ยังมีการใช้เชื้อเพลิงดีเซลทางเลือก เช่น B-30 (ผสมเชื้อเพลิงไบโอดีเซลจากน้ำมันใช้แล้วจากการประกอบอาหารในอัตราส่วน 30% กับเชื้อเพลิงดีเซลปกติ) ที่สนามบินคุมาโมโตะ และ B-100 (เชื้อเพลิงไบโอดีเซลร้อยละ 100) ที่สนามบินนาริตะ เป็นต้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ภาคพื้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมาย “การปลดปล่อย CO2 สุทธิเป็นศูนย์” ในปี 2050

นอกจากนี้ บางสายการบินยังได้ดำเนิน “โครงการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน” โดยบางกิจกรรมของโครงการอาจทับซ้อนกับรูปแบบการดำเนินงานและกิจกรรมที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

“โปรแกรม Greenliner” ของสายการบิน ETIHAD ซึ่งได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2019 โดยมีเน้นการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายพันธมิตรในอุตสาหกรรมการบิน เพื่อร่วมกันดำเนินงานและขับเคลื่อน “ความยั่งยืน” ในอุตสาหกรรมการบินทั้งระบบ ปัจจุบันเครือข่ายพันธมิตรที่เข้าร่วมโปรแกรมนี้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 25 หน่วยงาน ซึ่งในจำนวนนี้รวมไปถึงบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกอย่างโบอิ้ง และบริษัทผลิตเครื่องยนต์เครื่องบินอย่าง General Electric หรือ GE

เครื่องบิน BOEING 787-10 DREAMLINER ของสายการบิน ETIHAD ในลวดลายพิเศษ “Greenliner” ซึ่งสายการบินรับมอบเครื่องบินลำนี้เมื่อปลายเดือนมกราคม 2020 โดยเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับเที่ยวบินส่งมอบ (delivery flight) ได้มีการผสม SAF ในอัตราส่วน 30% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด

“โครงการ ANA Future Promise” ของสายการบิน ANA เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยหนึ่งในหมุดหมายสำคัญคือลดการปลดปล่อยคาร์บอนการบินสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งกิจกรรมที่เริ่มดำเนินงานไปแล้ว เช่น การใช้ SAF การใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากกระดาษเพื่อลดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง การเสิร์ฟอาหารที่ทำมาจากพืช (plant-based food) บนเที่ยวบิน และการปรับเปลี่ยนสื่อสิ่งพิมพ์บนเที่ยวบินให้เป็นรูปแบบดิจิดัลเพื่อลดการใช้กระดาษ เป็นต้น

ทั้งนี้ การดำเนินงานและบริการเหล่านี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 7 การเข้าถึงพลังงานสะอาด, 12 การบริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ, 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 14 การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในปัจจุบันอย่าง BCG (ย่อมาจาก Bio-Circular-Green) Economy

อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายด้านการลดการปลดปล่อยคาร์บอน (decarbonization) ยังคงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวต้องเร่งปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับประเด็นสำคัญข้างต้น โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (ปริญญาโท) สหสาขาวิชานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน (Innovative Engineering for Sustainability)

ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เปิดกว้างสำหรับผู้สนใจศึกษาต่อในด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้จัดตั้ง สถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (Carbon Institute for Sustainability) เพื่อให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการคาร์บอนและความยั่งยืนขององค์กร นำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับเรื่องดังกล่าวอีกด้วย

แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.